วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

การแบ่งประเภทสังคมตามแนวความคิดของ เลนสกี้ สามารถมองได้ทั้งภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และภาพของสังคมในช่วงเวลาเดียวกันแต่ต่างกันในระดับของการพัฒนาการของสังคมแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ ทุกสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงสังคมของตนตั้งแต่สังคมล่าสัตว์และเก็บพืชผัก จนถึงสังคมอุตสาหกรรมและสังคมหลังยุคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันในยุคปัจจุบันในบางส่วนของสังคมประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีทั้งสังคมล่าสัตว์และเก็บพืชผัก สังคมกสิกรรมพืชสวน สังคมเกษตรกรรม สังคมอุตสาหกรรม และสังคมหลังยุคอุตสาหกรรม
นอกจากการแบ่งสังคมตามแนวความคิดของ เลนสกี้ แล้ว มีนักสังคมวิทยาหลายคนที่ใช้ความแตกต่างของโครงสร้างสังคม (Social structure) แบ่งสังคมออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
เฟอร์ดินาน ทอยนีย์ (Ferdinand Tonnies) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน เรียกสังคมที่สมาชิกในสังคมมีความสัมพันธ์ทางสังคมแบบสนิทสนมกันแบบเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องว่า Gemeinschaft และเรียกสังคมที่สมาชิกในสังคมมีความสัมพันธ์ทางสังคมแบบรู้จักกันอย่างเป็นทางการ รู้จักกันเฉพาะเรื่อง หรือรู้จักกันตามบทบาทและหน้าที่ของสังคมว่า Gesellschaft หรืออาจกล่าวได้ว่าสังคม Gemeinschaft ก็คือวิถีชีวิตของสังคมชนบท ที่สมาชิกทุกคนในสังคมจะรู้จักกับสมาชิกคนอื่น ๆ อย่างเป็นกันเอง และมีการติดต่อพบประสังสรรค์ต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ส่วนสังคมแบบ Gesellschaft ก็คือสภาพของการอยู่อาศัยแบบสังคมเมืองสมัยใหม่ ที่สมาชิกแต่ละคนในสังคมจะมีวิถีชีวิตแบบเป็นส่วนตัว มีความเป็นอยู่แบบปัจเจกบุคคล (Individuality) โดยไม่สนใจพบค้าสมาคมกับคนรอบข้าง
อีมีล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส แบ่งสังคมเป็น 2 แบบ คือ แบบแรกเป็นสังคมที่มีการยึดเหนี่ยวกันแบบกลไก (Mechanical solidarity ) เป็นสังคมขนาดเล็ก ความร่วมมือและความสมานสามัคคีภายในสังคมเกิดจากการที่สมาชิกทุกคนมีบทบาทที่คล้ายคลึงกัน และมีค่านิยมเหมือนกัน แบบที่สองเป็นสังคมที่มีการยึดเหนี่ยวกันแบบอินทรีย์ (Organic solidarity) เป็นสังคมขนาดใหญ่ ความร่วมมือและความเป็นปรึกแผ่นของสังคมเกิดเฉพาะภายในกลุ่มของคนกลุ่มที่มีบทบาทเฉพาะด้านเหมือนกัน ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของสมาชิกในสังคมจะเกิดเฉพาะกับคนที่มีหน้าที่เดียวกัน
อีไล ชินอย (Ely Chinoy) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน แบ่งรูปแบบของสังคมออกเป็น 2 แบบ คือ
1.สังคมแห่งชุมชน (Communal society) ซึ่งมีลักษณะดังนี้
1.1การแบ่งแยกแรงงาน และบทบาทของสมาชิกในสังคมไม่มีลักษณะเฉพาะด้านสมาชิกแต่ละคนสามารถทำงานได้หลายอย่างตามบทบาทที่ตนมีอยู่ในสังคม ความแตกต่างในการทำงานเป็นไปตามบทบาทของเพศ และอายุ
1.2ครอบครัวเป็นหน่วยที่สำคัญของสังคม พื้นฐานของการจัดระเบียบทางสังคม (Social organization) มาจากระบบเครือญาติ (Kinship)
1.3ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นแบบรู้จักกันเป็นส่วนตัวและมั่นคงถาวร การติดต่อระหว่างกันเกิดจากความพึงพอใจและเข้าใจซึ่งกันและกัน
1.4พฤติกรรม และการกระทำของคนในสังคมถูกควบคุมด้วยวิถีประชา และประเพณีของสังคม
2.สังคมแห่งสมาคม (Associational society) มีลักษณะดังนี้
2.1การแบ่งแยกแรงงาน และบทบาทของสมาชิกในสังคมมีการแบ่งแยกไปตามความชำนาญเฉพาะด้านเช่น ในงานประเภทเดียวมีการแบ่งงานออกเป็นหลายหน้าที่ แต่ละหน้าที่อาจแบ่งความรับผิดชอบตามความสามารถและระดับการศึกษา
2.2ครอบครัวมีหน้าที่ที่สำคัญต่อสังคมน้อยลง มีสถาบันอื่นเข้ามารับหน้าที่เฉพาะด้านแทน เช่น มีสถาบันการศึกษาทำหน้าอบรมสมาชิกของสังคม มีบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมทำหน้าที่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
2.3ความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัว รู้จักกันอย่างผิวเผินติดต่อกันในช่วงเวลาสั้น ๆ ตามบทบาทและหน้าที่
2.4พฤติกรรม และการกระทำของคนในสังคมถูกควบคุมโดยกฎหมาย มีบทลงโทษผู้ที่ละเมิดระเบียบของสังคมไว้อย่างชัดเจน
เมื่อพิจารณาสังคมทั้งสองประเภทที่กล่าวมา สามารถเปรียบเทียบได้ว่า สังคมแห่งชุมชน มีโครงสร้างทางสังคมเหมือนกับ สังคมก่อนยุคอุตสาหกรรม ที่ประกอบด้วย สังคมล่าสัตว์และเก็บพืชผัก สังคมกสิกรรมพืชสวน สังคมเกษตรกรรม และสังคมแห่งสมาคม มีโครงสร้างทางสังคมเหมือนกับ สังคมอุตสาหกรรม และสังคมหลังยุคอุตสาหกรรม
การแบ่งประเภทของสังคมที่ได้กล่าวมานั้นมีการใช้กันไม่มากนัก ส่วนที่ใช้กันทั่วไปทุกวันนี้ มีสองแนวทางด้วยกัน ดังนี้
แนวทางแรก ใช้แบบของการดำรงชีพ (Mode of subsistence) เป็นหลักในการแบ่งประเภทของสังคม โดยดูจากกิจกรรมที่มนุษย์กระทำเพื่อสนองความต้องการของตนในการดำรงชีพ ความต้องการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์ต้องการ คือ อาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย การแบ่งสังคมโดยใช้ความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพของมนุษย์มีหลายรูปแบบ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงการแบ่งประเภทสังคมที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายของ เกอร์ฮาร์ด เลนสกี้ (Gerhard Lenski) ดังนี้
1.สังคมล่าสัตว์และเก็บพืชผัก (Huntering and gathering society) เป็นสังคมแบบเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่แรกเริ่มของสังคมมนุษย์ เป็นสังคมที่มีประชากรจำนวนน้อย อาศัยอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย มีวิถีชีวิตแบบเร่ร่อนไปตามฝูงสัตว์และพื้นที่มีพืชผักอุดมสมบูรณ์ มีการใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน (Primitive technology) ซึ่งได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุตามธรรมชาติ เช่น ไม้ หิน กระดูกสัตว์ เป็นต้น มีการแบ่งงานกันทำตามเพศและวัย สมาชิกแต่ละคนในสังคมมีบทบาทที่สำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจ นั่นก็คือทุกคนต้องช่วยกันหาอาหารตลอดเวลา เพราะยังไม่รู้จักวิธีเก็บอาหารไว้ใช้ได้นานๆ และเมื่อหาอาหารมาได้แล้วก็ต้องมีการแบ่งปันอาหารให้ทั่วกันทุกคน
2.สังคมกสิกรรมพืชสวน (Horticultural society) จากหลักฐานเท่าที่ค้นพบสังคมแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณที่ใกล้กับที่ราบลุ่มแม่น้ำในตะวันออกกลางเมื่อประมาณ 9,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นยุคที่มนุษย์ดำรงชีพด้วยการผลิตอาหารจำพวกพืช ควบคู่ไปกับการล่าสัตว์และเก็บพืชผัก มีการสร้างที่อยู่อาศัยแบบถาวร อยู่กันเป็นชุมชน มีการเคลื่อนย้ายชุมชนไปตามความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินที่ใช้ในการทำกสิกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุตามธรรมชาติมีการขัดเกลาตกแต่งมากขึ้นในสมัยนี้บางชุมชนสามารถผลิตอาหารจากการทำกสิกรรม บางชุมชนเป็นสังคมเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน (Pastoral society) ทำให้เกิดผลผลิตในการดำรงชีพของแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน การแลกเปลี่ยนผลผลิตก็เกิดขึ้นตามมา
3.สังคมเกษตรกรรม (Agrarian society) เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชมนุษย์สามารถประดิษฐ์ไถขึ้นใช้ได้สำเร็จ ทำให้การเพาะปลูกสามารถปรับปรุงที่ดินแปลงเดิมให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ได้ การย้ายที่ทำกินไปยังที่ใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่าก็หยุดลง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนอกจากจะนำไปสู่การนำเอาพลังงานจากสัตว์เลี้ยงมาใช้ในการเกษตรกรรมแล้ว ยังทำให้เกิดการอยู่รวมกันเป็นเมือง มีการครอบครองที่ดิน และสะสมสัตว์เลี้ยงตามมา สังคมเกิดความไม่เท่าเทียมกัน มีการแบ่งชั้นของคนในสังคมตามความร่ำรวยสังคมต้องสร้างระบบควบคุมสังคมเพื่อจัดการความเป็นระเบียบเรียบร้อยของระบบเศรษฐกิจ มีการสร้างระบบเงินตรา มีองค์กรที่ทำหน้าที่ปกครองสังคม ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการประดิษฐ์สิ่งใหม่เพื่อใช้ในการดำรงชีพเกิดขึ้นมากมายหลายอย่าง
4.สังคมอุตสาหกรรม (Industrial society) ระหว่างศตวรรษที่ 18 - 19 ก็เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ มีผลทำให้รูปแบบการผลิตปัจจัยสำหรับการดำรงชีพของมนุษย์เปลี่ยนจากการใช้แรงงานสัตว์และคนไปใช้แรงงานเครื่องจักร มีการผลิตเป็นจำนวนมากเพื่อการค้า วัถตุดิบที่ใช้ในการผลิตไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่สามารถทำมาแปรรูปเป็นสินค้าตามที่ตลาดต้องการ เกิดชุมชนเมืองที่มีคนอยู่กันอย่างหนาแน่น ภายในชุมชนมีอุตสาหกรรมตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ มีสถาบันทางสังคมที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านหลายสถาบัน มีการแบ่งแยกแรงงานตามความสามารถเฉพาะด้านไม่ระบุเฉพาะว่าเป็นของเพศใด
นอกจากจะแบ่งสังคมเป็น 3 ประเภทแล้ว ยังมีนักสังคมศาสตร์บางคนได้กำหนดประเภทสังคมเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแบบ นั่นก็คือ สังคมหลังยุคอุตสาหกรรม(Postindustrial society)เป็นสังคมที่ใช้สำนักงานแทนโรงงานอุตสาหกรรม ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนเครื่องจักร ชุมชนเมืองเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า มหานคร (Metropolitan) สังคมแบบนี้จะมุ่งไปยังระบบเศรษฐกิจที่เน้นการบริการด้านต่าง ๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา การขนส่ง และการสื่อสาร เป็นต้นเพื่อสนับสนุนการดำรงชีพของมนุษย์ (Popenoe 1993 : 94)
ประเภทของสังคม
หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทสังคมของนักวิชาการแต่ละสาขาวิชามีความแตกต่างกัน ดังนี้
เลวิส เฮนรี่ มอร์แกน (Lewis Henry Morgan) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ใช้ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ระบบเครือญาติ และระบบทรัพย์สิน แบ่งสังคมออกเป็น 3 สมัย โดยแต่ละสมัยจะมีขั้นของการพัฒนา 3 ขั้น คือ
1.สังคมคนป่า (Savage)
-ขั้นต้น เป็นสมัยเริ่มแรกของสังคมมนุษย์ ที่เป็นพื้นฐานของสังคมมนุษย์ในขั้นต่อไป
-ขั้นกลาง เป็นขั้นที่มนุษย์รู้จักทำการประมง และมีความรู้ในการใช้ไฟ
-ขั้นปลาย เป็นขั้นที่มนุษย์รู้จักการทำถ้วยชามและทำธนูไว้สำหรับล่าสัตว์
2.สังคมอนาอารยชน (Barbarian)
-ขั้นต้น เป็นขั้นที่มนุษย์รู้จักทำเครื่องปั้นดินเผา
-ขั้นกลาง เป็นขั้นที่มนุษย์รู้จักเลี้ยงสัตว์ เพราะปลูกด้วยระบบชลประทาน ใช้เครื่องมือที่ทำด้วยหิน
-ขั้นปลาย เป็นขั้นที่มนุษย์รู้จักการถลุงแร่เหล็ก ใช้เครื่องมือที่ทำด้วยเหล็ก
3.สังคมอารยธรรม (Civilized) เป็นสมัยมนุษย์มีการใช้ภาษาและประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ จนถึงสมัยปัจจุบัน




ออกุสต์ กองต์ (Auguste Comte) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ใช้ความเชื่อ (Belief) และความคิด (Ideology) ของมนุษย์มาใช้แบ่งประเภทของสังคม โดยอธิบายว่าสังคมทั้งหลายจะมีขั้นตอนของการพัฒนาความเชื่อและความคิด ตามลำดับดังนี้
1.ขั้นเทววิทยา (Theological stage) ก่อน ปี ค.ศ. 1300 เป็นต้นไป เป็นช่วงที่ความเชื่อและความคิดของมนุษย์ได้รับอิทธิพลจากศาสนา
2.ขั้นอภิปรัชญา(Metaphysical stage) อยู่ช่วงระหว่าง ปี ค.ศ.1300 - 1800 เป็นช่วงที่มนุษย์ใช้เหตุผลในการสร้างความคิด และยอมรับความเชื่อต่าง ๆ
3.ขั้นวิทยาศาสตร์(Positivistic stage) เริ่มตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1800 เป็นต้นมามนุษย์เริ่มรู้จักใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในพัฒนาความคิด หรือยอมรับความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง